Tuesday, July 5, 2011

หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง

หลวงพ่อเกษม เขมโก มีนามเดิมว่า เกษม มณีอรุณ เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ (ร.ศ. ๑๓๑, จ.ศ. ๑๒๗๔, ค.ศ. ๑๙๑๒) ณ บ้านท่าเก๊าม่วง ริมแม่น้ำวัง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นบุตรชายคนหัวปีคนเดียวของ เจ้าน้อยหนู มณีอรุณ และเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และมีน้องสาวเสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ บิดารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ชาติตระกูลทั้งบิดาและมารดามาจากตระกูล ณ ลำปาง เป็นหลานเจ้าพ่อบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

ท่านเป็นคนร่างสันทัด ผิวขาว แข็งแกร่ง บุคลิกลักษณะดีมาแต่กำเนิด ว่องไว และสติปัญญาเฉลียวฉลาด นุ่มนวล แสดงออกซึ่งลักษณะของการประนีประนอม แม้จะซุกซนก็เป็นธรรมดาของวัยเด็ก ไม่มีการแสดงออกซึ่งความแข็งกร้าว ไม่ยอมทำสิ่งที่ผิด

เจ้าเกษม ณ ลำปาง (หลวงพ่อเกษม) จบการศึกษาชั้นประถม ๕ การศึกษาสามัญ ณ โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล อันเป็นขั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ขณะนั้นอายุได้ ๑๑ ปี

ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ อายุได้ ๑๓ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นครั้งแรก ณ วัดป่าดั๊วะ โดยการบวชหน้าไฟ ๗ วัน ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นสามเณรเกษม อายุได้ ๒๐ ปี ก็สามารถเรียนนักธรรมสอบได้ชั้นโท มีความแตกฉานในด้านบาลีมาก

พ.ศ. ๒๔๗๖ อายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบุญยืน จังหวัดลำปาง โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธรรมจินดานายก (ฝาย) เจ้าคณะจังหวัดลำปาง (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, ท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระธรรมจินดานายก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เขมโก” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีธรรมอันเกษม”

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านก็ยังศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในระยะแรกๆ โดยได้เข้าเรียนภาษาบาลีและปริยัติธรรมจากสำนักวัดศรีล้อม วัดบุญวาทย์วิหาร วัดเชตวัน และวัดเชียงราย ในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีครูสอน อาทิ ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิโสภณ (อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง), พระมหาตาคำ, พระมหามงคล บุญเฉลิม, มหามั่ว พรหมวงศ์, มหาปราโมทย์ (นาม) นวลนุช, พระมหาโกวิท โกวิทยากร

การศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านสอบได้นักธรรมเอกในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะนั้นอายุได้ ๒๔ ปี และเรียนภาษาบาลีที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร สามารถแปลพระธรรมบทได้ ๘ ภาค เรียนพระปาติโมกข์ สวดพระปาติโมกข์ ในอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหารหลายปี ถึงเวลาสอบเปรียญ ๓ ท่านไม่ยอมสอบทั้งๆ ที่มีความสามารถและมีความสนใจศึกษา

ต่อมา เจ้าอธิการเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน ถึงแก่มรณภาพ ทางคณะศรัทธาญาติโยมจึงได้นิมนต์หลวงพ่อเกษมให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านเกิดเบื่อหน่ายและได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อออกเดินธุดงค์ เนื่องจากท่านชอบความวิเวก โดยท่านกล่าวมีความตอนหนึ่งว่า “...ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้ว การเป็นเจ้าอาวาสเปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการความวิเวก ไม่ขอกลับมาอีก...”

ทั้งนี้ ท่านจึงไปอาศัยอยู่ที่ป่าช้าศาลาวังทาน จากนั้นจึงย้ายเข้าไปอยู่ในป่าช้าแม่อาง บำเพ็ญภาวนาธรรม ซึ่งท่านได้รับอุบายธรรมมาจากหลวงพ่อครูบาแก่น (อุบล สุมโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง จังหวัดลำปาง ถือได้ว่าเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานองค์แรก

การปฏิบัติท่านมีปฏิปทาเช่นเดียวกันกับ “พระป่า” ที่เที่ยววิเวกไปในทุกแห่งหนนั้นเอง อาศัยป่าที่สงบจากผู้คน โดยอาศัยเฉพาะป่าช้าในเขตจังหวัดลำปาง หลวงพ่อเกษม ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ทุกคนไม่เข้าใจในปฏิปทาของท่าน จะพากันสงสัยว่า “การปฏิบัติที่ตึงเปรี๊ยะ คือ การนั่งภาวนากลางแดดร้อนระอุบ้าง นั่งทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ไหวกายเลยบ้าง อดอาหารเป็นเวลานานถึง ๔๙ วันบ้าง มิหนำซ้ำท่านยังไม่ติดรสในอาหารอีกด้วย”

วัตรการประพฤติปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อเกษมองค์นี้นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ ปฏิปทาของท่าน แม้เราจะมองดูตามลักษณะที่ท่านบำเพ็ญภาวนาตามสถานที่ต่างๆ ดูเหมือนว่าท่านจะทรมานตนเองเกินกว่าเราจะคิดว่านั่นคือการปฏิบัติธรรม เพราะปกติท่านจะอาศัยป่าช้า นั่งสมาธิภาวนาอยู่หน้าเชิงตะกอนเผาผีบ้าง นั่งภาวนากลางแดดร้อนระอุ นั่งภาวนายามค่ำคืนที่หนาวอย่างทารุณของภาคเหนือ นั่งภาวนาท่ามกลางสายฝนที่ตกชุก อย่างนี้เป็นต้น

ทำไมท่านต้องกระทำถึงขั้นนั้น จะไม่เป็นกานทรมานตนเองเกินไปหรือ ?...เปล่าเลย ท่านทนได้และทำได้ โดยไม่มีอันตรายอันใด ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่เกิดกับท่านเลยในเรื่องนี้ นอกจากว่า ความเจ็บที่มีขึ้นตามปกติมนุษย์พึงมีพึงเป็นเท่านั้นมันเป็นความเลี่ยงไม่ได้ แต่การกระทำเยี่ยงท่าน เป็นนิสัยที่ท่านเคยปฏิบัติมาก่อนในอดีต ซึ่งท่านเคยพูดอยู่เสมอๆ ว่า “การปฏิบัติอย่างนี้ ต้องแยกกายและจิตให้ออกจากกัน”

ดังนั้นคณะศรัทธาทั้งหลายจึงมีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องนี้มาก เพราะเป็นการถือเคร่งทรมานกิเลสภายใน อันได้แก่ตัณหาอุปาทาน เป็นวิธีที่ล่อแหลมต่ออันตรายทางด้านสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อเกษม ท่านไม่มีความกังวลในการทรมานตนของท่านเลย ท่านไม่เป็นอะไรยังแข็งแรงเช่นเดิม

หลวงพ่อเกษม ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีข้อวัตรปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่นนั้น อาจเป็นบารมีเก่าของท่านที่เคยดำเนินมาก่อนก็เป็นได้ เพราะการกระทำของนักปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการรู้เฉพาะจิตตัวเอง ไม่มีใครรู้หรือจะเดาไม่ได้เลย พระกรรมฐานทุกองค์ ท่านจะมีปฏิปทาที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งผิดแปลกไปจากชาวบ้านธรรมดาอยู่มากทีเดียว แต่ความมุ่งหมายที่สุดของการดำเนินจิตก็เป็นแหล่งเดียวกัน คือทางพ้นทุกข์พ้นภัยนั่นเอง

ท่านปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์ ตลอดพรรษาได้อย่างสบายไม่มีอะไรติดขัด ก็เพราะท่านมีกำลังจิตแก่กล้ามั่นคงนี่เอง การกระทำเช่นหลวงพ่อเกษม จะต้องมีอารมณ์จิตถึงระดับญาณ ๔ หรือที่เรียกกันว่า จตุตถญาณ คือมีอารมณ์จิตสงัดเงียบจิตจะได้ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกายสังขารเลย ญาณ ๔ นี้แม้ความร้อนอ่อนหนาวจะไม่มีอาการรู้ตัวเลย หรือจะมีใครมาทำอะไรแก่บุคคลผู้ได้ระดับญาณ เช่น คนมาตีศีรษะอย่างแรง ทำร้ายร่างกาย จะไม่มีความรู้สึก เพราะจิตและกายได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

ผู้เขียนไม่เคยได้พูดคุยปัญหาเรื่องนี้กับหลวงพ่อเกษม แต่ได้เรียนถาม หลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า “ถ้าบุคคลใด ปฏิบัติมาได้ขั้นนี้แล้ว จะเป็นผู้มีกำลังจิตที่แก่กล้ามาก อาการเช่นนี้ ถ้าจะมีใครยกเราหย่อนลงไปในน้ำก็สามารถอยู่ได้ ไม่มีอันตรายเลยและไม่มีอะไรอีกด้วย ว่าเย็นหนาว และถ้าเขาจะจับศีรษะบิดจนรอบก็ไม่มีความรู้สึกอะไร จะนั่งอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง บุคคลเช่นนี้มีอำนาจจิตที่แก่กล้าแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ทุกเมื่อเลยทีเดียว” เป็นอันว่าสรุปผลแห่งการปฏิบัติของหลวงพ่อเกษม เป็นผู้ทรงอภิญญาจะต้องแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้เป็นที่แน่นอน

หลวงปู่ศรี มหาวีโร แห่งวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านเคยเมตตาอธิบายว่า “การเจริญสมาธิภาวนาแบบอุกฤษฏ์ทรมานตนนี้ เป็นการสร้าง “มหาสติ” อีกแบบหนึ่ง ผู้ทำสำเร็จจะมีพลังแก่กล้ามาก เป็นความจริงในเรื่องนี้”

ปกติหลวงพ่อเกษม ท่านจะพูดน้อย คือพูดค่อยๆ เชิงกระซิบ โดยท่านให้เหตุผลว่า “ถ้าต้องพูดกับคนทุกคนแล้ว ท่านคงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมแน่ๆ”

ท่านมีคุณธรรมวิเศษอีกข้อหนึ่ง อันได้แก่ เป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์และมีเมตตาสูง โดยไม่เลือกชั้นวรรณะของสาธุชนผู้เดินทางไปถึงสำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ (ประตูม้า) จังหวัดลำปาง นับได้ว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่งในภาคเหนือ

หลวงพ่อเกษม ท่านได้แสดงสัจธรรมให้พวกเราได้ประจักษ์ ถึงความเป็นอนัตตา เป็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร มี เกิด มีแก่ มีเจ็บ และมีตาย ท่านได้ละสังขารจากพวกเราไปแล้ว ณ ห้องไอซียู โรงพยาบาลศูนย์ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เวลา ๑๙.๔๐ น. ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ สิริอายุรวม ๘๔ พรรษา ๖๓ ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่ศานุศิษย์ทั่วประเทศ

1 comment: